หมอพรทิพย์-โพธิสัตต์ปณิธาน |
|
|
Manager Online : Photo
ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางคนกังขาว่าที่ "คุณหมอ"
กล้ายืนทวนกระแสคดีฆาตกรรมต่างๆ มากมาย เพราะ "อยากดัง"
แต่วิกฤตการณ์ "คลื่นยักษ์สึนามิ" พิสูจน์แล้วว่า "หมอพรทิพย์" คือ "ของจริง"
เธอทำงานด้วย "ใจ" ที่อุทิศให้กับ "งาน" จริงๆ
เพราะยากนักที่จะเห็นคนมีชื่อเสียงยอมลงแรงชนิด "เหงื่อออก" ท่ามกลางกลิ่นศพที่เน่าเหม็น
เป็นการทำงานหนักด้วยการกระทำ ไม่ใช่คำพูด
ภาพ "หมอพรทิพย์" ในสื่อต่างๆ ช่วงกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพของ "คุณหมอ"
ที่ใบหน้ามันแผล็บ นัยน์ตาอิดโรย
เป็นภาพที่ไม่ต้องมีคำบรรยายว่าเธอทำงานหนักเพียงใด
สถานการณ์ทั่วไปอาจสร้าง "วีรบุรุษ" ให้กำเนิดหรือโดดเด่นขึ้นมา
แต่โศกนาฏกรรมจากคลื่นยักษ์ "สึนามิ" กลับเป็น "สถานการณ์" ที่สร้าง "วีรสตรี" อย่างแท้จริง
แม้จะมีผู้เข้าร่วมกู้วิกฤติจากมหันตภัยครั้งนี้มากมาย
แต่บุคคลหนึ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดกลับเป็น พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
หรือ "หมอพรทิพย์"
ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จุดสำคัญอยู่ที่การค้นหาศพผู้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน
"หมอพรทิพย์" นั้นคือ "มือหนึ่ง" ในเรื่องการ "สืบจากศพ" และ "แกะรอยดีเอ็นเอ"
เมื่อต้องการพิสูจน์ศพว่าศพนี้คือใคร คนที่ได้รับมอบหมายให้เป็น "ตัวหลัก"
ในการรับผิดชอบเรื่องนี้จึงไม่พ้น "หมอพรทิพย์"
ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะวิกฤตินี้รุนแรงเกินกว่าใครจะคาดคิด
เมื่อเมืองไทยไม่มีการวางระบบไว้รองรับ
ดังนั้น เมื่อ "ปัญหา" โหมกระหน่ำเข้ามา "คนทำงาน" ก็มองหา "ผู้นำ"
ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของยามวิกฤติ
ทุกคนต้องการคนสั่งการ
"สถานการณ์" ดังกล่าวจึงสร้างให้ "หมอพรทิพย์"
ที่สั่งสมชื่อเสียงมานานและมีผู้คนศรัทธาและเชื่อมั่นจำนวนมากกลายเป็น "ผู้นำ"
นักข่าวในพื้นที่บอกว่า "คุณหมอ" เป็น "ศูนย์รวม" ของคนทำงานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
มีคนเพียงไม่กี่คนที่เป็น "ลูกน้อง" ตามตำแหน่งหน้าที่
แต่มีคนจำนวนมากพร้อมที่จะอาสาสมัครเข้ามาเป็น "ลูกน้อง" ที่ทำตามคำสั่งของ "หมอพรทิพย์"
ในช่วงนั้นเธอทั้งสั่งการ-ลงมือเองและแก้ปัญหา
"คุณหมอ" พักผ่อนเพียงวันละไม่กี่ชั่วโมง บางวันทานอาหารเพียง 1-2 มื้อ
ในช่วงต้นของเหตุการณ์ "คลื่นยักษ์สึนามิ" ด้วยภารกิจและความมีชื่อเสียงของ "หมอพรทิพย์"
ทำให้เธอเป็นบุคคลที่สถานีโทรทัศน์แทบทุกช่องต้องการสัมภาษณ์
ในช่วงนั้น "ปัญหา" รุมเร้าเข้ามาหนักหน่วง
ต้องแก้ปัญหากันแบบวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง
เมื่อ "สื่อ" ต้องการสัมภาษณ์ "คุณหมอ"
ก็อาศัยโอกาสนี้เองร้องขอสิ่งที่ขาดแคลนในพื้นที่ผ่านทางโทรทัศน์
ตอนแรกขอผ้าห่อศพ แต่เมื่อผ้าใช้ไม่ได้ผล ก็ขอพลาสติคแทน
เมื่อศพเริ่มเน่าเหม็น เธอก็ขอห้องเย็นเก็บศพ ขอน้ำแข็งแห้ง ฯลฯ
หรือขาดอาสาสมัครด้านใด ก็สามารถบอกกล่าวผ่านทาง "สื่อ" ได้
วินาทีนั้น คนไทยทั่วทั้งประเทศต้องการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนในพื้นที่ แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร
และจะช่วยอะไร
"คุณหมอ" จึงเป็น "สะพานเชื่อม" ระหว่าง "ความขาดแคลน" กับ "ความต้องการให้"
ขออะไร ได้ทุกอย่าง
ขอของได้ของ ขอคนได้คน
ระบบหลายอย่างที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของคุณหมอพรทิพย์
พอประกาศว่าต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาช่วยเหลือ เช่น
เรื่องการวางระบบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์
ประกาศความต้องการเพียงแค่วันเดียว ก็มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมคอมพิวเตอร์มาช่วยวางระบบให้
มีคนบอกว่าช่วงนั้น "หมอพรทิพย์" เหมือน "โดราเอมอน"
อยากได้อะไร เพียงบอกผ่านสื่อโทรทัศน์ คนทำงานก็จะได้ของนั้นในเวลาไม่นาน
รวดเร็วยิ่งกว่าคำสั่งของรัฐมนตรีเสียอีก
ในยามวิกฤติ นี่คือ การแก้ปัญหาแบบ "บายพาส" ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
แม้ปัจจัยหลายอย่างจะเอื้ออำนวย แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ และเป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่งที่ทำให้
"หมอพรทิพย์" โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติ
นั่นคือ การลงแรงทำงานอย่างจริงจังแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของ "หมอพรทิพย์"
สถานการณ์ครั้งนี้พิสูจน์ความเป็น "หมอพรทิพย์" ได้ดีกว่าเหตุการณ์ใด
ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางคนกังขาว่าที่ "คุณหมอ" กล้ายืนทวนกระแสคดีฆาตกรรมต่างๆ มากมาย
เพราะ "อยากดัง"
แต่วิกฤตการณ์ "คลื่นยักษ์สึนามิ" พิสูจน์แล้วว่า "หมอพรทิพย์" คือ "ของจริง"
เธอทำงานด้วย "ใจ" ที่อุทิศให้กับ "งาน" จริงๆ
เพราะยากนักที่จะเห็นคนมีชื่อเสียงยอมลงแรงชนิด "เหงื่อออก" ท่ามกลางกลิ่นศพที่เน่าเหม็น
เป็นการทำงานหนักด้วยการกระทำ ไม่ใช่คำพูด
ภาพ "หมอพรทิพย์" ในสื่อต่างๆ ช่วงกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นภาพของ "คุณหมอ"
ที่ใบหน้ามันแผล็บ นัยน์ตาอิดโรย
เป็นภาพที่ไม่ต้องมีคำบรรยายว่าเธอทำงานหนักเพียงใด
"คุณหมอ" ลงไปในพื้นที่ตั้งแต่วันแรกที่เกิด "คลื่นยักษ์สึนามิ"
นับจากวันที่ 26 ธันวาคมต่อเนื่องถึงวันที่ 6 มกราคม
12 วันเต็มๆ ที่ "คุณหมอ" ทำงานในพื้นที่แบบไม่มีวันหยุด
อาสาสมัครที่ลงไปช่วยในพื้นที่ยังมีเวรผลัดเปลี่ยน แต่ "หมอพรทิพย์" ยืนหยัดต่อเนื่องนานถึง 12 วัน
มีเพียงวันศุกร์ที่ 7 มกราคมที่ "คุณหมอ" บอกกับผมทางโทรศัพท์ว่าจะขอเดินทางกลับ กทม. 1
วันเพื่อดูแลลูกสาวที่ไม่สบาย
วันนั้นเธอจะขอไม่ให้สัมภาษณ์
เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวสัก 1 วัน
ก่อนจะกลับลงไปลุยงานหนักอีกครั้งที่พังงา
โดย สรกล อดุลยานนท์ มติชนสุดสัปดาห์ 7 มกราคม 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1273 ขับเคลื่อนโดย อโกคอมเม้นท์ ๒.๐! |